วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

ลักษณะภูมิประเทศและภูมิสัณฐาน

อ้างอิง http://travel.kapook.com

1. ลักษณะภูมิประเทศและภูมิสัณฐาน บริเวณทะเลอันดามัน (The Andaman Sea)     ทะเลอันดามันเป็นแอ่งที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก (tectonic basin) ต่อเนื่องมาจากดินดอนสามเหลี่ยมของแม่น้ำอิระวดีในประเทศพม่า แผ่กว้างออกไปประมาณ 1,200 กิโลเมตร ลงไปทางใต้จนถึงทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราและช่องแคบมะละกา ความกว้างของท้องทะเลจากฝั่งตะวันตกของแหลมไทยไปจนถึงหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ (Nicobar) ประมาณ 650 กิโลเมตร หมู่เกาะเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสันใต้น้ำที่เป็นแนวแบ่งเขตแอ่งอันดามัน ออกจากอ่าวเบงกอล (Bay of Bengal)
     ลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญในทะเลอันดามัน คือ ลาดทวีป (continental slope) ที่อยู่นอกชายฝั่งแหลมไทย - มาเลเซีย ลาดทวีปนี้เอียงลาดไปทางทิศตะวันตกจนกระทั่งไปต่อกับตะพักลุ่มน้ำที่ระดับความลึกประมาณ 2,435 เมตร ตะพักลุ่มน้ำนี้เอียงลาดไปทางทิศตะวันตกเช่นเดียวกัน โดยที่ความลาดเอียงจะค่อยๆ ลดลงไปจนกระทั่งถึงระดับความลึกประมาณ 2,670 เมตร ต่อจากนั้นจึงเป็นแอ่งที่ชันในระดับความลึกประมาณ 3,035 เมตร ซึ่งควรจะเป็นท้องแอ่งของทะเลอันดามันกลาง (Central Andaman Trough)
     Sattayarak (1992) กล่าวถึง การสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติในทะเลอันดามันว่ามี แอ่งเทอร์เชียรีที่สําคัญ 2 แอ่งคือ (1) แอ่งสิมิลัน ซึ่งอยู่ในบริเวณที่นํ้าทะเลลึกน้อยกว่า 200 เมตร แอ่งนี้เกิดจากการเคลื่อนตัวแบบทวนเข็มนาฬิกา (sinistral movement) ของเขตรอยเลื่อนระนอง (Ranong Fault Zone) (2) แอ่งเมอร์กุย (Mergui Basin) ซึ่งอยู่ในบริเวณที่น้ำทะเลลึกมากกว่า 200 เมตร เป็นแอ่งชนิด transtensional back-arc basin อันเนื่องจากการมุดตัวของเปลือกโลก แนวแอ่งนี้จะเชื่อมต่อกับแอ่งสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย แอ่งเทอร์เชียรีบริเวณทะเลอันดามัน วางตัวเป็นแนวในทิศทางประมาณเหนือ-ใต้ ในลักษณะของ half graben ตะกอนที่ทับถมอยู่ในแอ่งเป็นตะกอนจากทะเล (marine deposits) ซึ่งมีความหนาถึง 8,000 เมตร บริเวณใจกลางแอ่ง
2 ธรณีวิทยาบริเวณทะเลอันดามัน (The Andaman Sea)     บริเวณทะเลอันดามันเป็นส่วนนอกฝั่งตะวันตกของพม่า ไทยและมาเลเซีย ต่อเนื่องเข้าไปในมหาสมุทรอินเดียเข้าหาแอ่งทะเลอันดามัน และสิ้นสุดที่หมู่เกาะ อันดามันนิโคบาร์ ส่วนทางด้านทิศใต้เป็นฝั่งสุมาตราเหนือ และช่องแคบมะละกา บริเวณทะเลอันดามันของไทยเป็นเพียงขอบตะวันออกของแอ่งทะเลอันดามันเท่านั้น
     แอ่งเทอร์เชียรีที่อยู่ในอาณาเขตของไทยได้แก่ แอ่งเมอร์กุยซึ่งเป็นแอ่งที่เกิดขึ้น ในช่วงปลายสมัยโอลิโกซีนอันเป็นผลมาจากการยกตัวของแผ่นเปลือกโลกพื้นทวีป ประกอบกับได้รับอิทธิพลจากกลุ่มรอยเลื่อนระนองและคลองมะรุ่ย ส่งผลให้แอ่งมีลักษณะเป็นแบบกึ่งกราเบนวางตัวในแนวเหนือใต้ (Polachan, 1988) ตะกอนในแอ่งเป็นพวกตะกอนที่สะสมตัวในทะเลน้ำลึกเพียงแอ่งเดียวในประเทศไทย มีความหนาถึง 8,000 เมตร แบ่งออกเป็นแอ่งย่อย ได้ 3 แอ่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 50,000 ตารางกิโลเมตร
     แนวเขาอันดามันนิโคบาร์ ทางขอบตะวันตกของแอ่งทะเลอันดามันประกอบด้วยหินเซอร์เพนทิไนต์-โอฟิโอไลต์-เรดิโอลาไรต์ หินภูเขาไฟยุคครีเทเชียส มีหินเกรย์แวกและหินดินดานอายุสมัยพาลีโอซีน-ไมโอซีน หนาไม่น้อยกว่า 3 กิโลเมตร ทับอยู่ด้านบน เมื่อต่อแนวเขาอันดามัน-นิโคบาร์ ขึ้นไปทางเหนือจะตรงกับแนวทิวเขาอารากันโยมา และต่อเลยขึ้นไปยังส่วนตะวันออกของภูเขาหิมาลัย ทางด้านใต้ลงมาเป็นด้านตะวันออกของเกาะสุมาตรา ตะกอนหินยุคเทอร์เชียรีที่สะสมตัวอยู่ในแอ่งตอนปลายสมัยโอลิโกซีนถูกพัดมาจากทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งในปัจจุบันเป็นบริเวณที่มีลักษณะภูมิประเทศสูงๆ ต่ำๆ และลดระดับไปเป็นที่ราบของไหล่ทวีปมาลายู หลังจากนั้นขอบทวีปหรือไหล่ทวีปได้แยกออกจากทิวเขาอันดามัน-นิโคบาร์ประมาณช่วงปลายสมัยไมโอซีนถึงปัจจุบัน ส่งผลทำให้แอ่งทะเลอันดามันมีลักษณะรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน (Ridd, 1971)
     การเกิดแอ่งทะเลอันดามันมีประวัติการเกิด ร่วมกับโครงสร้างอื่นๆ ในอาเซียอาคเนย์ในการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนขนาดใหญ่ เช่น รอยเลื่อนสุมาตรา ในเกาะสุมาตรา รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ในประเทศไทย และการเปิดของอ่าวไทย (Bunopas and Vella, 1983) ตั้งแต่ช่วงปลายของยุคครีเทเชียส

                                                 อ้างอิง http://www.dmr.go.th/




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น